การเลือกลายและแบบให้เหมาะสมกับโอกาสที่ใช้
ในการประดิษฐ์ผักและผลไม้ให้มีรูปแบบต่างๆ กันนั้น จำเป็นต้องอาศัยลายพื้นฐานหรือลายแม่แบบเป็นหลัก ลายพื้นฐานที่ใช้ในการประดิษฐ์ผักและผลไม้ ได้แก่ ลายรวงข้าว ลายดอกข่า และลายคดกริช เราจำลายพื้นฐานเหล่านี้าผสมผสานกันเพื่อให้เหมาะสมกับผักและผลไม้ที่จะนำมาประดิษฐ์และโอกาสที่จะใช้นอกจากลายพื้นฐานต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วยังมีลายและแบบอีกหลายชนิดที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ อีก เช่น
ก. ลายไทย เป็นการแกะสลักเป็นลายตัวกนกแบบต่างๆ เหมาะสำหรับใช้แกะสลักภาชนะต่างๆ เช่น แจกัน ผอบ <
ข. ลายเครือเถา เป็นการแกะสลักผักหรือผลไม้เป็นช่อหรือพวง เช่น การแกะสลักขิงเป็นช่อ หรือการแกะสลักผักหรือผลไม้ที่ใช้เป็นภาชนะ เช่น เป็นผอบ หรือแจกัน
ค. ลายฉลุ เป็นการแกะสลักลายฉลุโปร่ง เช่น การแกะสลักใบไม้ หรือการแกะสลักภาชนะต่างๆ ที่ไม่ต้องใช้บรรจุของที่เป็นของเหลว
ง. ดอกไม้ เป็นการแกะสลักเพื่อใช้ตกแต่งแจกันหรือถาด
จ. ตุ๊กตา เป็นการแกะสลักและประดิษฐ์เป็นตัวตุ๊กตา เพื่อใช้ตกแต่งให้สวยงามและน่ารัก
ฉ. ตัวสัตว์ เป็นการแกะสลักตกแต่งเพื่อให้เกิดความสวยงามและน่ารัก เช่น แกะสลักเป็นนำ เต่า ฯลฯ
ข้อควรระวังในทางเทคนิคบางประการ
ผักและผลไม้ส่วนใหญ่เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วให้ล้างน้ำเย็นจัด จัดวางในภาชนะแล้วใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดคลุมไว้ หรือจัดใส่กล่องพลาสติกปิดฝาให้แน่นแล้วใส่ตู้เย็น มีผักและผลไม้บางชนิดต้องระมัดระวังในการเก็บรักษาเป็นพิเศษ เช่น
ฟักทอง เมื่อแกะสลักเสร็จให้ล้างน้ำเย็นจัดห้ามแช่ไว้นานๆ เพราะจะทำให้ปลายกลีบขาวและเน่าเร็ว
หัวหอมใหญ่ เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว แช่น้ำประมาณ ๕-๑๐ นาที เพื่อให้กลีบแข็ง แล้วนำขึ้นจัดวางในภาชนะ ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดคลุมไว้
เผือก ขณะแกะสลักไม่ควรล้างน้ำ เพราะจะทำให้มีเมือกและคัน เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วนำไปล้างในน้ำผสมน้ำสารส้ม หรือน้ำส้มเจือจางจะทำให้เผือกขาวขึ้น
น้ำเต้า ขณะแกะสลักน้ำเต้าต้องจุ่มน้ำตลอดเวลา มิฉะนั้นจะดำ เพราะน้ำเต้ามียางมาก เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วล้างน้ำเย็นจัด นำขึ้นห่อด้วยผ้าขาวบางที่ชุบน้ำพอหมาด จัดใส่กล่องพลาสติก เมื่อจะนำมาบรรจุอาหารคาว - หวาน หากเป็นอาหารร้อน ควรลวกภายในผลด้วยด้วยน้ำเดือด ถ้าเป็นอาหารที่เย็นให้แช่น้ำเย็นจัด ๒ นาที คือ แล้วนำขึ้นซับน้ำให้แห้ง
พุทรา เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว ควรล้างในน้ำผสมน้ำมะนาวเจือจาง จะทำให้พุทราไม่ดำและไม่เป็นเมือ (ในขณะแกะสลักไม่ควรจุ่มน้ำจะทำให้ลื่นและเป็นขุยได้)
ขิง ขณะแกงสลักไม่ควรจุ่มน้ำ จะทำให้ร้อนมือ เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว ควรนำไปแช่ในน้ำส้มประมาณ ๑๐-๑๕ นาที ขิงจะอ่อนตัวและเปลี่ยนเป็นสีชมพู แล้วล้างน้ำสะอาด ผึ่งแห้งนำไปใส่ขวดดอง
ฝรั่งและมะม่วง เมื่อแกะสลักแล้ว ควรนำไปล้างในน้ำผสมน้ำมะนาวเจือจาง ทำให้ไม่ดำ
ละมุด เมื่อแกะสลักแล้วอย่าแช่น้ำ ควรล้างด้วยน้ำเย็นจัด ละมุดจะได้สด ถ้าจะเก็บไว้นานๆ ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำสะอาดบิดให้หมาดคลุมไว้ แล้วจึงใส่ตู้เย็น มิฉะนั้น ผิวจะแห้งดำ ไม่น่ารับประทาน ถ้าเก็บไว้นานหลายชั่วโมง ควรชุบน้ำเชื่อม และ จัดใส่กล่องปิดฝาแน่น ใส่ตู้เย็นไว้จนกว่าจะถึงเวลานำออกใช้
แห้วและมันแกว เป็นผลไม้ที่มีเนื้อเปราะมาก เวลาแกะสลักต้องระวังเป็นพิเศษเพราะลายจะหักง่าย
มันฝรั่ง เมื่อแกะสลักแล้ว ควรแช่น้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นจัดประมาณ ๑๐ นาที เพื่อให้ยางออก งานที่แกะสลักแล้วจะไม่ดำ
บีต เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว ควรล้างน้ำเย็นจัด แล้วนำขึ้นจัดวางในภาชนะ แต่บีตมีข้อเสีย คือ มียางและสีตก เมื่อทิ้งไว้นานผิวจะแห้งดำ ต้องหมั่นฉีดน้ำ หรือใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดปิดไว้ เมื่อถึงเวลาใช้ ควรแช่น้ำเย็นจัดประมาณ ๒-๕ นาที สีดอกจะสดขึ้น
ผักและผลไม้ทุกชนิดเมื่อนำออกจากตู้เย็นควรล้างน้ำเย็นจัดอีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปใช้อุณหภูมิจะได้ไม่เปลี่ยน และเมื่อจัดเสร็จแล้วควรใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำเย็นจัดพอหมาดคลุมไว้
การประดิษฐ์ผักและผลไม้เป้ฯงานที่ใช้ฝีมือ เวลาและความมีใจรัก ในสมัยก่อนข้าราชบริพารฝ่ายในเป็นผู้ประดิษฐ์เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการฟื้นฟูเอกลักษณ์ของไทยขึ้น การประดิษฐ์ผักและผลไม้จึงได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากบุคคลทั่วไป เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้หาได้ง่ายและเศษวัสดุที่เหลือจากการประดิษฐ์ก็ยังนำไปประกอบอาหารอื่นๆ ได้ ได้ รวมทั้งผลวานที่ได้ออกมาก็สวยงามคุ้มค้า จึงนิยมทำกันแพร่หลายขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับผลตอบแทนทางด้านจิตใจ คือ ผู้ประดิษฐ์มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุม มีสมาธิที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และยังเป็นทางนำไปสู่ความภูมิใจในการประกอบงาน ศิลปะอื่นๆ อีกด้วย งานประดิษฐ์เหล่านี้เมื่อนำไปเป็นของขวัญของฝากให้กับผู้ใด ย่อมก่อให้เกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะเป็นงานประดิษฐ์ที่ทำด้วยความประณีต และที่สำคัญที่สุด คือ นำไปประกอบเป็นอาชีพได้ โดยอาจจะทำเป็นอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ในครอบครัวหรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านเพื่อใช้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ตรุษสารท และเทศกาลต่าง ๆ เช่น แกะสลักผักและผลไม้แล้วนำไปดอง เชื่อม แช่อิ่ม ฯลฯ บรรจุใส่ภาชนะให้สวยงามแล้วนำไปจำหน่าย หรือทำเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เช่น อาหารประจำวันในโรงแรมภัตตาคาร ร้านอาหาร หรืออาหารในโอกาสพิเศษ เช่น การเลี้ยงรับรองแขกต่างประเทศ งานแสดงเอกลักษณ์ไทย นอกจากนี้ ยังแพร่หลายไปสู่ต่างประเทศในรูปของของสินค้าได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ศิลปะการประดิษฐ์ผักและผลไม้ มีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งจนได้บรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งทางภาควิชาการและภาคปฏิบัติหลายระดับทั้งทางภาคเอกชนและรัฐบาล จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเราควรที่จะดำรงรักษาสืบทอดศิลปะนี้ไว้ตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น