วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

ประวัติความเป็นมาของการแกะสลักผักและผลไม้


ประวัติความเป็นมาของการแกะสลักผักและผลไม้  


       การแกะสลักผักและผลไม้เป็นงานฝีมือที่เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทยที่มีมาแต่โบราณ  แต่จะเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏชัด  แต่มีหลักฐานที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศ  หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งได้บรรยายถึงพระราชพิธีจองเปรียง  ในวันเพ็ญเดือน 12 รัชสมัยของสมเด็จพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นนักขัตฤกษ์ ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งามประหลาดกว่าโคมของพระสนมทั้งปวง โดยเลือกผกาเกสรสีต่างๆ  ประดับเป็นรูปดอกไม้ ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วนำผลพฤกษาลดาชาติ มาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณานกวิหกหงส์  ให้จับจิกเกสรบุปผชาติ อยู่ตามกลีบดอกกระมุทเป็นระเบียบเรียบร้อย  วิจิตรไปด้วยสีย้อม สดส่าง ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียน ธูป  และประทีปน้ำมันแปรียง เจือด้วยไขข้อพระโค   (กรมศิลปากร นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  
          ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น  การแกะสลักผักและผลไม้มีปรากฏขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเห็นได้จากพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและเห่ชมผลไม้ ตอนหนึ่งว่า


                                                                                    น้อยหน่านำเมล็ดออก                              ปล้อนเปลือกออกเป็นอัศจรรย์

มือใครไหนจักทัน
                                                          เทียบเทียมที่ฝีมือนาง
                   (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  2530 : 14)

                                                         ผลเงาะไม่งามแงะ                          มล่อนเมล็ดและเหลือปัญญา           
              
           หวนเห็นเช่นรจนา
                                                จำเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม

                   (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  2530 : 17)

                    ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร  เรื่องสังข์ทอง บรรยายตอนนางจันท์เทวี แกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องของนางกับพระสังข์
ตอนหนึ่งดังนี้
                   เมื่อนั้น                                                    นางจันทร์ชื่นชมสมหมาย

อุตสาห์เหนื่อยยากฝากกาย
                                  ให้วิเสททั้งหลายเขาเมตตา


นางต้มแกงแต่งเครื่องเวลาไร                                ชอบพระทัยลูกรักนักหนา


สมหวังดังจิตที่คิดมา
                                               กัลยาจะแกล้งแกงฟัก      


จึงหยิบยกมาตั้งนั่งฝาน
                                           เอาไว้ในจานแล้วเจียนจัก

แกะเป็นรูปองค์นงลักษณ์                          
เมื่ออยู่กับผัวรักในวัง

         ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา                  คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์

 
ชิ้นสองท่องเที่ยวเซซัง                  อุ้มลูกไปยังพนาลัย


ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา
                            ลูกยาออกช่วยขับไก่


ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร
                                       ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน


ชิ้นห้าบิตุรงค์ทรงศักดิ์
                                     ห้จับตัวลูกรักมาจากบ้าน


ชิ้นหกจองจำทำประจาน
                                ให้ประหารค่าฟันให้บรรลัย


ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา
                            ให้ถ่วงลงคงคาน้ำไหล


เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไท
                                   ใครใครไม่ทันจะสงกา  
                    ( พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  2513 : 253 - 254 )

                    พระราชนิพนธ์เรื่องขุนช้างขุนแผน บางตอนจะเป็นเรื่องราว วิถีของคนไทยในสมัยของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในวรรณคดี
ตอนที่มีเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลย์ไลยก์ได้บรรยายถึง การทำหมากประจำกัณฑ์ ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องกัณฑ์เทศน์ โดยหมากประจำกัณฑ์ของขุนช้างบรรยาย ว่า

                    มะละกอซื้อมาตะกร้าจีน                             เอาอย่างหั่นขวั้นสิ้นหาช้าไม่

 เม็ดยอช่อตั้งขึ้นบังใบ                                                    รายเรียงเคียงใส่ไว้เบื้องบน                 
                                                                     
แกะแร้งกินผีดูพิกล                                                      เอาดอกรักปักปนกับดาวเรือง

   ขุนช้างขุนแผน  2544 : 47 )
                  
  ส่วนหมากประจำกัณฑ์ของนางพิมอธิบายว่า

                    เอามะละกอมาผ่าสับ                               ช่วยกันแกะสลักเป็นหนักหนา

แล้วย้อมสีสดงามอร่ามตา                                             ประดับประดาเป็นที่สีขรินทร์

แกะเป็นราชสีห์สิงหอัสน์                                              เหยียบหยัดยืนอยู่ดุเฉิดฉิน

แกะเป็นเทพพนมพรหมมินทร์                                        พระอินทร์ถือแก้วแล้วเหาะมา

แกะเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ                                      ผาดผ่านแผ่นผยองล่องเวหา

                                                ยกไปให้เขาโมทนา                                                    ฝูงข้าก็รับไปทันที

          จากพระราชนิพนธ์ที่ยกมาบ้างตอน จะเห็นว่าคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น รู้จักการแกะสลักผักและผลไม้ เพื่อรับประทานหรือเพื่อตกแต่งอาหารเริ่มปรากฏในวังมาก่อน  ทำให้ทราบว่ากุลสตรีในสมัยนั้นได้รับการฝึกฝนให้พิถีพิถันกับการจัดตกแต่งผัก ผลไม้และการปรุงแต่งอาหารเป็นพิเศษ  การเรียนรู้การแกะสลักผักและผลไม้ในสมัยก่อน เมื่อเริ่มตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นในรัชสมัยพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) ได้นำวิชาการช่างสตรีมาสอน เช่น วิชาการแกะสลักผักและผลไม้ และในปัจจุบันการแกะสลักผักและผลไม้ยังจัดทำการสอนทั้งในระดับโรงเรียน ระดับวิทยาลัย  และระดับมหาวิทยาลัย โดยได้มีหลักสูตรสอนเยาวชนไทยได้รู้จักแกะสลักผักและผลไม้เป็นรูปแบบต่างๆ

                     ดังนั้น  งานศิลปะการแกะสลัก จึงมีค่าควรแก่การที่จะอนุลักษณ์สืบต่อไปจนถึงลูกหลาน ให้ชาวต่างชาติได้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย อันอ่อนช้อย งดงาม ประณีตละเอียดอ่อน  และความอดทนในงานแกะสลักผัก-ผลไม้ ของคนไทย  ปัจจุบันมีการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ขึ้นมา  มีการจัดงานประกวดในสถานที่ต่างๆ เพื่ออนุรักษ์งานแกะสลักให้กับคนรุ่นใหม่สืบต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น